มีชาวไทยพื้นเมืองเรียกว่า ส่วย หรือ กวย หรือ กูย อาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมือง ประทายสมันต์ หรือ จ.สุรินทร์ ในปัจจุบัน เป็นกลุ่มชนที่มีความรู้ความสามารถในการจับ ช้างป่า มาเลี้ยงไว้ใช้งาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2302 มี ช้างเผือก แตกโขลงออกจากเมืองหลวงหนีเข้าป่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์) แห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดเกล้าฯ ให้ติดตามช้างเผือก เชียงปุม ซึ่งเป็นหัวหน้าชาวส่วยได้ช่วยเหลือการติดตามช้างเผือกกลับมาได้ จึงพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสุรินทรภักดี ปกครองหมู่บ้านเดิมขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย ก่อนเลื่อนเป็น พระสุรินทรภักดีศรีรณรงค์จางวาง
ต่อมา พ.ศ. 2324 เมืองเขมรเกิดจลาจล เมืองประทายสมันต์ได้สมทบกับกองทัพหลวงไปช่วยปราบปราม จึงมีชาวเขมรอพยพครอบครัวมาตั้งอยู่ในเขตเมืองประทายสมันต์เป็นจำนวนมาก ถัดมาอีก 5 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์เป็นเมืองสุรินทร์ ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง กระทั่ง พ.ศ. 2337 พระยาสุรินทรภักดีฯ เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม
อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีฯ เป็นรูปหล่อทองเหลืองรมดำ สูง 2.2 เมตร มือขวาถือของ้าว แสดงถึงความเก่งกล้าสามารถในการบังคับช้างศึก พร้อมสะพายดาบคู่ หมายถึง ความเป็นนักรบความกล้าหาญ เป็นคุณสมบัติที่ตกทอดเป็นมรดกของคนสุรินทร์มาถึงวันนี้.
ที่ตั้ง
จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ทางตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างลองติจูด 103 และ 105องศาตะวันออก ละติจูด 15 และ 16องศาเหนือ ระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 420 กิโลเมตร อาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดมหาสารคาม ทิศใต้ ติดต่อกับประเทศกัมพูชา ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ และทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดบุรีรัมย์
- จังหวัดสุรินทร์มีระยะทางจากจังหวัดนครราชสีมา208กิโลเมตร
[แก้] สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
- ตราประจำจังหวัด: รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่หน้าปราสาทหินศีขรภูมิ (เดิมเรียกว่าปราสาทหินบ้านระแงง)
- ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกกันเกรา (Fagraea fragrans)
- ต้นไม้ประจำจังหวัด: กันเกรา (Fagraea fragrans)
- คำขวัญประจำจังหวัด: สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ปะคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม
[แก้] สภาพภูมิประเทศ
จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบสูงมีลักษณะพื้นที่ดังนี้
- ทางตอนใต้ของจังหวัด เป็นพื้นที่ราบสูง มีภูเขาสลับซับซ้อนหลายลูก มีป่าทึบสลับป่าเบญจพรรณตามบริเวณแนวเขตชายแดน (อำเภอบัวเชด อำเภอสังขะ อำเภอกาบเชิง และอำเภอพนมดงรัก) ที่ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา ต่อจากบริเวณภูเขาลงมาเป็นที่ราบสูง ลุ่มๆ ดอนๆ ลาดเทมีลักษณะเป็นลูกคลื่น ค่อยๆ ลาดเทไปทางตอนกลางและตอนเหนือของจังหวัด
- ทางตอนกลางของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม แต่มีพื้นที่บางส่วนเป็นที่ดอน สลับที่ลุ่มลอนลาดเช่นเดียวกัน แต่ไม่มากเท่าทางตอนใต้ของจังหวัด (อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอศรีขรภูมิ อำเภอสำโรงทาบ อำเภอลำดวน และอำเภอศรีณรงค์)
- ทางตอนเหนือของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ (อำเภอจอมพระ อำเภอสนม) และที่ราบลุ่ม (อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม อำเภอรัตนบุรี และอำเภอโนนนารายณ์) โดยเฉพาะอำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม อยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลในเขตของ ทุ่งกุลาร้องให้
ลักษณะของดินในจังหวัดสุรินทร์ เป็นดินร่วนปนทราย มีบางพื้นที่ เช่น อำเภอเขวาสินรินทร์ เป็นดินเหนียวปนทราย ฉะนั้นดินในจังหวัดสุรินทร์จึงอุ้มน้ำได้น้อย
[แก้] ภูเขาและแหล่งน้ำ
จังหวัดสุรินทร์ มีเทือกเขาพนมดงรักทอดยาวตามแนวเขตแดนไทย–กัมพูชา ทางด้านตอนใต้ของจังหวัด มีเขาสวายหรือพนมสวายในเขตตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์ เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว มียอดเตี้ยๆ 3 ได้แก่ ยอดเขาชาย (พนมเปราะ ) เป็นที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคล ปางประทานพร ภปร. ยอดเขาหญิง (พนมซแร็ย) เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ขนาดกลาง และยอดเขาคอก (พนมกรอล) พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ ได้สร้างศาลาอัฐะมุขเพื่อเป็นอนุสรณ์ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และสถูปบรรจุอัฐิพระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล) เกจิอาจารย์ที่ชาวสุรินทร์เคารพนับถือ ปัจจุบันเขาสวายได้รับการประกาศเป็น วนอุทยานพนมสวาย
แหล่งน้ำที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่
- แม่น้ำมูล ต้นน้ำเกิดจากภูเขาดงพญาเย็น เขตอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ไหลผ่านจังหวัดสุรินทร์ ทางเขตอำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม และอำเภอรัตนบุรี ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร การเพาะปลูก การคมนาคม นอกจากนั้นยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำต่างๆ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของราษฎร หากไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนแล้ง จะมีน้ำตลอดทั้งปี
- ลำน้ำชี ต้นน้ำเกิดจากเขาพนมดงรัก เป็นลำน้ำที่แบ่งเขตจังหวัดสุรินทร์ กับจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นลำน้ำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 90 กิโลเมตร ไหลผ่านจังหวัดสุรินทร์ ในเขตอำเภอปราสาท อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอจอมพระ และไปบรรจบแม่น้ำมูลที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
- ลำน้ำห้วยพลับพลา ต้นน้ำเกิดจากอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ไหลผ่านทุ่งกุลาร้องไห้ ลงสู่แม่น้ำมูลที่อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นลำห้วยที่แบ่งอาณาเขตจังหวัดสุรินทร์ กับจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ด
- ลำห้วยทับทัน ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมดงรัก ไหลผ่านเขตอำเภอสังขะ อำเภอศรีณรงค์ อำเภอสำโรงทาบ อำเภอโนนนารายณ์ อำเภอรัตนบุรี และไหลลงสู่แม่น้ำมูล
- ลำห้วยระวี ไหลผ่านเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอจอมพระ และอำเภอท่าตูม ทางจังหวัดได้ทำการขุดลอก และสร้างฝายน้ำล้นกั้นเป็นช่วงๆ เพื่อใช้ประโยขน์ทางการเกษตร การเพาะปลูก และการอุปโภคบริโภค
- ลำห้วยเสน ต้นน้ำเกิดจากเขาพนมดงรัก ไหลผ่านเขตอำเภอสังขะ อำเภอศรีณรงค์เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ ในฤดูแล้งน้ำแห้งเป็นบางช่วงของลำห้วย
- ลำห้วยระหาร ไหลผ่านเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ ในฤดูฝนน้ำจะท่วมหลาก แต่ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอด ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้
- ลำห้วยแก้ว ไหลผ่านเขตอำเภอรัตนบุรี และไหลลงสู่แม่น้ำมูล ฤดูแล้งบางช่วงของลำห้วยน้ำตื้นเขิน ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน
- ลำห้วยสำราญ เป็นลำห้วยที่แบ่งอาณาเขตจังหวัดสุรินทร์ กับจังหวัดศรีสะเกษ ต้นน้ำเกิดจากเขาพนมดัจ (เขาขาด) และพนมซแร็ยซระน็อฮ (เขานางโศก) ไหลผ่านเขตอำเภอบัวเชด และอำเภอสังขะ
- ลำห้วยจริง เป็นลำห้วยที่แบ่งอาณาเขต อำเภอศรีขรภูมิ กับอำเภอโนนนารายณ์ และอำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์มีโครงการชลประทาน 1 แห่ง คือ เขื่อนห้วยเสนง (สะเนง=เขาสัตว์) อยู่ในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ เป็นโครงการส่งน้ำทดน้ำ เอื้อประโยชน์ต่อการทำนาในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 46,180 ไร่
- ลำห้วยไผ่ ต้นน้ำเกิดจากท้องทุ่งนาในเขตอำเภอสนม ไหลผ่านเขตตำบลโพนโก อำเภอสนม เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ โดยปลายน้ำอยู่ที่แม่น้ำมูล ตำบลน้ำเขียว อำเภอรัตนบุรี
[แก้] ทรัพยากร
[แก้] ทรัพยากรป่าไม้
จังหวัดสุรินทร์ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ ป่าไม้ ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งจังหวัดประมาณ 1,434,001 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์เหลืออยู่ประมาณ 187,343 ไร่ จังหวัดสุรินทร์ มีพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตป่าจำนวน 1,382,625 ไร่หรือคิดเป็นร้อยละ 27.23 ของพื้นที่ โดยสามารถแยกได้ดังนี้ คือ
- เขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 26 ป่า
- วนอุทยาน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ วนอุทยานพนมสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ เนื้อที่ 2,500 ไร่ และวนอุทยานป่าสนหนองคู อำเภอสังขะ เนื้อที่ 625 ไร่
- เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า 1 แห่ง คือ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยสำราญ-ห้วยทับทัน อยู่ในพื้นที่อำเภอพนมดงรัก อำเภอกาบเชิง อำเภอสังขะ และอำเภอบัวเชด เนื้อที่ 313,750 ไร่
- (เอกสารบรรยายสรุปจังหวัดสุรินทร์ ประจำปี 2540) มีการตัดไม้ทำลายป่าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการบุกรุก แผ้วถาง เพื่อการเกษตรกรรม ป่าไม้ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ในเขตอำเภอสังขะ อำเภอบัวเชด อำเภอกาบเชิง และอำเภอพนมดงรัก และยังมีป่าไม้กระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ ในเขตอำเภอปราสาท อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอท่าตูม อำเภอรัตนบุรี อำเภอลำดวน และอำเภอศีขรภูมิ ต้นไม้ที่มีอยู่โดยทั่วไปในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ ต้นเต็ง รัง ยาง ประดู่ พะยูง ตาด แดง กะบาก และอื่น ๆ รวมทั้ง ต้นมันปลา หรือต้นกันเกรา ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์ จากการที่ป่าไม้ถูกทำลายมาก จึงมีการปลูกป่าทดแทน หรือปลูกไม้โตเร็วเพื่อการใช้สอย เช่น ต้นกระถินณรงค์ ต้นยางพารา ต้นตะกู และต้นยูคาลิปตัส เป็นต้น
[แก้] ทรัพยากรสัตว์ป่า
จังหวัดสุรินทร์มีทรัพยากรสัตว์ป่าอยู่มากมายทั่วทั้งจังหวัด แต่ปัจจุบันนี้สัตว์ป่าจะมีอยู่เฉพาะตามพื้นที่ป่าที่อนุรักษ์ไว้และอาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเท่านั้น ส่วนสัตว์ป่าที่พบเห็นได้ในปัจจุบันที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญได้แก่ เก้ง กวาง ลิ่น วัวแดง กระจง ลิง ค่าง ชะนี เสือโคร่ง เลียงผา อีเห็น แมวดาว ชะมด เม่น ไก่ฟ้าพญาลอ นกนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมูป่า และกระจงมีอยู่จำนวนมากทั่วพื้นที่ สัตว์ที่มีลักษณะเด่นในพื้นที่ ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ เก้ง และที่พบเห็นในวนอุทยานพนมสวาย ได้แก่ กระรอก กระต่ายป่า สัตว์ปีกมีบ้างแต่ไม่มากนักได้แก่ นกกระเต็น บ่าง นกกระทาดง นกกวัก นกกระปูด นกกางเขนดง นกเขาหลวง นกเป็ดน้ำและนกเหยี่ยว และที่พบในวนอุทยานป่าสนหนองคู ได้แก่ กระรอก บ่าง กระต่ายป่า งู แย้ และนกเขา นกกะปูด นกเอี้ยง บางครั้งก็จะมีพบนกเงือกมาอยู่บ้าง และยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่สามารถพบเห็นได้ในป่าชุมชนต่างๆที่มีการอนุรักษ์ผืนป่าไว้
[แก้] ทรัพยากรน้ำ
จังหวัดสุรินทร์มีลำน้ำธรรมชาติที่สำคัญ 8 สาย คือ แม่น้ำมูล ลำน้ำชีน้อย ลำห้วยอารีย์ ลำห้วยพลับพลา ลำห้วยระวี ลำห้วยทับทัน ลำห้วยสำราญ และลำห้วยแก้ว เป็นลำน้ำที่ทำประโยชน์แก่จังหวัดนอกจากนั้นยังมีแหล่งน้ำอื่น ๆ ในเขตอำเภอต่าง ๆ รวมถึงแหล่งน้ำอื่นที่ไม่เอื้อประโยชน์มากนัก เนื่องจากในฤดูแล้งไม่มีน้ำอีกเป็นจำนวนมาก
[แก้] ทรัพยากรธรณี
จังหวัดสุรินทร์มีทรัพยากรทางธรณีที่สำคัญ ได้แก่ ทรายแม่น้ำมูล พบที่อำเภอท่าตูม และอำเภอชุมพลบุรี บ่อหินลูกรัง พบที่ อำเภอท่าตูม อำเภอสำโรงทาบ อำเภอเมืองสุรินทร์ และอำเภอสังขะ หินภูเขา เป็นหินภูเขาที่ได้จากเขาสวาย ท้องที่ตำบลสวาย และตำบลนาบัว สำหรับป้อนโรงงานโม่หินเพื่อใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง
[แก้] พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น
[แก้] การตั้งถิ่นฐาน
จากหลักฐานที่พบภาชนะดินเผา ยุคก่อนประวัติศาสตร์บริเวณจังหวัดสุรินทร์ และพบแหล่งชุมชนโบราณหลายแห่ง ย่อมแสดงให้เห็นว่า ในบริเวณจังหวัดสุรินทร์มีผู้คนอาศัยนานมาแล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ในปีพ.ศ. 2538 นายเจริญ ไวรวัจยกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ พร้อมคณะได้ศึกษาและเก็บข้อมูลชุมชนโบราณบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ห้วยลำพลับพลาด้านบนและลำน้ำมูลด้านใต้ เนื่องจากพบเนินสูงๆ ต่ำๆ อยู่เป็นจำนวนมาก จากการสำรวจสันนิษฐานว่าเนินเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง
นักมานุษยวิทยา และนักโบราณคดีลงความเห็นว่า บริเวณที่ราบลุ่มตอนกลางของแม่น้ำมูลด้านตะวันออกและชุมชนทุ่งสำริดในจังหวัดบุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และลุ่มแม่น้ำมูลชีตอนล่าง ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี คือแหล่งอารยธรรมโบราณ บรรพชนของชุมชนเหล่านี้ ได้ประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผาเนื้อหยาบหนา ในยุคแรกๆ ไม่มีลวดลายเขียนสี ในยุคต่อมาพัฒนาเป็นการเขียนสี และชุบน้ำโคลนสีแดง นอกจากนี้ยังได้ค้นพบหลักฐานแสดงการเปลี่ยนแปลงทางคติชนวิทยาที่สำคัญของมนุษยชาติ คือประเพณีฝังศพครั้งที่สองโดยการบรรจุกระดูกผู้ตายลงในภาชนะก่อนการนำไปฝัง ซึ่งการฝังครั้งแรกนั้นจะนำร่างผู้ตายลงในหลุมระยะหนึ่ง แล้วจึงขุดขึ้นเพื่อทำพิธีฝังครั้งที่สอง ลักษณะสำคัญของชุมชนเหล่านี้อีกอย่างหนึ่ง คือ โครงสร้างของชุมชนมักแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่อาศัยมักอยู่บนเนินหรือที่ดอน โดยรอบเป็นที่ลุ่มสำหรับเป็นแหล่งทำกิน ด้าน ตะวันออกส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานและด้านตะวันตกเป็นป่าช้า การขยายตัวของชุมชนมักขยายไปทางทิศตะวันตก ชุมชนเหล่านี้มีการขยายตัวทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมืองมีการสั่งสมหรือกวาดต้อนประชากรจากพื้นที่ต่างๆ จัดตั้งขยายเป็นชุมชนเมือง เป็นรัฐยุคต้นประวัติศาสตร์ ชุมชนเหล่านี้นี่เองที่หลอมรวมกันขึ้นเป็นอาณาจักรเจนละ หรืออีสานปุระ มีหลักฐานแสดงความเจริญหลายอย่าง เช่นการถลุงเหล็ก การทำเกลือ ปลูกข้าว การขุดคู กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและความปลอดภัย
[แก้] ประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์
เมืองสุรินทร์เป็นเมืองเก่าแก่มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีวัฒนธรรมที่สั่งสมสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงสมัยปัจจุบัน สิ่งที่ปรากฏหลักฐานบ่งบอกชัดเจน ได้แก่ คูเมือง 3 ชั้น มีเนินดินเป็นกำแพง สันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองหน้าด่านของขอม ดังที่จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเรียบเรียง ถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในการรายงานตรวจราชการมณฑลอีสานและนครราชสีมา ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2469 ดังนี้
เมืองสุรินทร์เป็นเมืองที่สร้างอย่างมั่นคงในปางก่อน มีคูถึง 3 ชั้น มีเนินดินเป็นกำแพงเมือง น่าจะเป็นเพราะเห็นว่าเป็นเมืองหน้าด่านทั้งทางตะวันออก และทางใต้ซึ่งมีช่องข้ามเขาบรรทัดต่อจังหวัดสุรินทร์อยู่หลายช่อง คือ ช่องปราสาทตาเมิน, ช่องเสม็ก, ช่องดอนแก้ว เป็นต้น ซึ่งมีทางเดินไปสู่ศรีโสภณ และเมืองจงกัน ยังมีคนและเกวียนเดินอยู่ทุกช่อง แต่เป็นทางลำบาก คงสะดวกแต่ช่องตะโก ต่อมาทางตะวันตก ซึ่งกรมทางได้ไปทำงานไว้เรียบร้อยแล้ว บริเวณเมืองสุรินทร์เป็นพื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมตลอดปี แต่ก็ทำไร่นาได้ เป็นทุ่งใหญ่ บ้านเมืองกำลังจะเจริญขึ้น เพราะเป็นปลายทางรถไฟ มีห้องแถวคึกคักไม่หย่อนกว่าอุบล และกำลังสร้างทำอยู่อีกก็มีมาก
พลเมืองแห่งจังหวัดสุรินทร์เป็นเขมรเป็นชาวพื้นเหมือนเช่น บุรีรัมย์ นางรอง มีลาวเจือปนบ้างเป็นส่วนน้อย กับมีชาติส่วยอีกพวกหนึ่ง ซึ่งว่าพูดภาษาของตนต่างหาก ตามที่ผู้รู้กล่าวว่า พื้นเป็นภาษาเขมรเจือด้วยคำลาว พวกเขมรพลเมืองสุรินทร์ยังคงพูดภาษาเขมร อยู่ทั่วไปและที่กล่าวว่าไม่รู้ภาษาไทยก็มีต้องใช้ล่ามเนืองๆ ผู้ปกครองท้องถิ่น เห็นว่าเป็นการดิ้นรน แสร้งทำเป็นพูดไทยไม่ได้ก็มีอยู่มาก แต่ในการปกครองไม่ปรากฏว่ามีความยากลำบากอะไรกว่าพลเมืองธรรมดา ในเรื่องของภาษาเขมรสอบสวนได้ความว่า วิชชาหนังสือขอมสูญแล้ว ไม่มีใครเรียน และไม่มีที่เรียน เพราะโรงเรียนสอนภาษาไทยอย่างเดียว เวลานี้มีแต่คนแก่ๆ เท่านั้นที่รู้หนังสือขอม ได้เพียงนี้ก็เห็นว่าในทางปกครองที่จะให้เกิดเป็นสำนึกของคนไทย นับว่าได้ทำไปได้มากแล้ว ถ้าจัดการโรงเรียนให้เจริญขึ้นอีก และในต่อไปการคมนาคมกับกรุงเทพสะดวกขึ้น พลเมืองพวกนี้จะรู้สึกตัวเป็นไทยยิ่งขึ้นทุกวัน ทั้งการลูกเสือก็ย่อมเป็นปัจจัยช่วยในทางนี้อยู่มาก ส่วนการไปมาถึงกันกับพวกเขมรต่ำในการปกครองฝรั่งเศสนั้น สอบสวนได้ความว่ายังมีอยู่เสมอแต่มีข้างฝ่ายคนเรื่องเขมรต่ำอพยพเข้ามาอยู่ทางเราเสียมากกว่า ปีหนึ่ง เข้าประมาณ 50 คน โดยมากเป็นเรื่องหนีส่วยอากรที่ทางฝ่ายโน้นเก็บแรงกว่าทางนี้
จังหวัดสุรินทร์ มีลำดับการพัฒนาทางประวัติศาสตร์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งทางด้านการปกครอง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง จากการตั้งบ้านเรือนที่มีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่ายในอดีต มาเป็นวิถีชีวิตที่สลับซับซ้อนอย่างในปัจจุบัน โดยเฉพาะการสะท้อนความเคลื่อนไหวของผู้คนที่มีมิติความสัมพันธ์ต่อกันอยู่ตลอดเวลา อันเป็นลักษณะโดดเด่นของผู้คนชาวจังหวัดสุรินทร์
[แก้] ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระยาประชากรกิจกรจักรเชื่อว่า ชนที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ในพื้นที่ของอีสานล่างคือ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานีบางส่วน กลุ่มแรกคือ กวย กูย หรือ ข่า ขมุ ลัวะ ละว้า เยอ ซึ่งเป็นพวกเดียวกัน แต่เรียกตามสำเนียงของภาษาพูดในแต่ละท้องถิ่น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกชนกลุ่มนี้ว่าส่วย
อีริค ไซเดนฟาเดน (Erick Seidenfaden) นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเดนมาร์ก สันนิษฐานว่าพวกกูยเคลื่อนย้ายจากประเทศจีนเข้าสู่ประเทศพม่า และมาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เมื่อประมาณ 1,200 ปี ก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 3,000 ปีเศษมาแล้ว ชาวกูยเหล่านี้อาศัยอยู่เป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่ภาคใต้ของลาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พวกที่อพยพเข้ามาเป็นระรอกที่ 2 และที่ 3 คือ เขมรและลาว
หม่อมอมรวงศ์วิจิตร กล่าวไว้ในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานกล่าวว่า เดิมพื้นที่ในมณฑลลาวทางนี้ เมื่อก่อนจุลศักราชได้ 1,000 ปี ก็เป็นทำเลป่าดง ซึ่งเป็นที่อาศัยของพวกคนป่า อันสืบเชื้อสายมาแต่ขอม ต่อมาเรียกกันว่า ข่า, ส่วย, กวย ซึ่งยังมีอยู่ในฝั่งโขงตะวันออก
เขมรเป็นชนพื้นเมืองที่เพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ในสมัยอาณาจักรขอมรุ่งเรือง ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 เป็นต้นมา ภายหลังได้ผสมกลมกลืนกับชาวส่วยซึ่งเป็นคนพื้นเมืองเดิมและได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า พวกเขมรป่าดง (ข่า-เขมร) ส่วนพวกลาวนั้นอพยพเข้ามาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ราวพุทธศักราช 2257-2261
[แก้] สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้แพร่ขยายอิทธิพลทางการเมืองทำให้กัมพูชาตกอยู่ในฐานะประเทศราชและในระหว่างปีพุทธศักราช 2103 อาณาจักรลาวมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครเวียงจันทน์ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (พุทธศักราช 2091-2111) กษัตริย์ของลาวได้สร้างนครเวียงจันทร์เป็นเมืองหลวงของล้านช้าง
ในปีพุทธศักราช 2257 ลาวแตกออกเป็น 3 รัฐอิสระ คือหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ ชาวลาวกลุ่มหนึ่งซึ่งนำโดยเจ้าราชครูหลวงแห่งวัดป่าโพนสะเม็ดพร้อมด้วยนักศึกษาวัด ทั้งที่กำลังศึกษา เป็นพระภิกษุสามเณรอยู่และที่จบการศึกษาแล้วเป็นอ้ายเชียง อ้ายทิด (บันฑิต) อ้ายจารย์ (อาจารย์) กับพวกข้าทางใต้ไปบูรณะพระธาตุพนม และไปจนถึงเขมร แล้วกลับมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์
เมืองจำปาศักดิ์นั้นเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองอัตตปือแสนแปง (แสนแปง) ซึ่งต่างเป็นเมืองของพวกลัวะ ข่า (หรือชนเผ่าพันธุ์ที่เราเรียกว่าส่วยในปัจจุบัน) ขณะนั้นเมืองจำปาศักดิ์ปกครองโดยนางแพง เจ้าหญิงข่า-ลัวะ ธิดาของนางเพากับเจ้าคำช้าง หรือบ้างคำ ด้วยคุณงามความดีของเจ้าราชครูหลวงแห่งวัดป่าโพนสะเม็ด นางแพงจึงมอบอำนาจการปกครองเมืองจำปาศักดิ์ให้ เจ้าราชครูหลวงจึงได้อัณเชิญเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรจากนครเวียงจันทร์ไปปกครองนครจำปาศักดิ์นับตั้งแต่พุทธศักราช 2261 – 2281 เป็นต้นมา เมื่อเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรได้ปกครองจำปาศักดิ์แล้ว เจ้าราชครูแห่งวัดป่าโพนสะเม็ดจึงขยายอำนาจ โดยตั้งชาวลาวที่มีความรู้ ความสามารถ ออกไปปกครองเมืองของลัวะ ข่าต่างๆ ภายในเขตเมืองจำปาศักดิ์ เช่น ส่งจารย์หวดเป็นเจ้าเมืองโขงสี่พันดอน ให้ท้าวมั่นไปตั้งบ้านโพนขึ้นเป็นเมืองสาระวันแต่ชาวบ้านชอบเรียกเมืองมั่นตามชื่อท้าวมั่นและเรียกควบกับเมืองคำทองใหญ่ว่าเมืองมั่นคำทอง ให้จารย์แก้ไปตั้งบ้านถ่ง (ท่ง) เป็นเมืองสุวรรณภูมิ ( ในจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน) ให้จารย์เซียงมาตั้งบ้านโนนสามขาเป็นเมืองศรีนครเขต (ศรีสะเกษในปัจจุบัน) ตั้งได้ไม่นานเมืองศรีนครเขตก็ถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้าง
การแยกเป็นรัฐอิสระของอาณาจักรลาว ทำให้ทั้ง 3 รัฐ เกิดการแข็งต่อเมืองกันและต่างสะสมแสนยานุภาพไว้ต่อสู้ ป้องกันการรุกราน เมืองจำปาศักดิ์จึงบังคับให้อัตตปือ แสนปางส่งช้างป้อนกองทัพให้แก่จำปาศักดิ์ตามที่ต้องการ ทำให้ส่วยอัตตปือ แสนปางทนต่อสภาพถูกบีบบังคับไม่ได้ จึงหนีข้ามลำน้ำโขงเข้ามาอาศัยกับพวกส่วยดั้งเดิมบริเวณป่าดงดิบแถบอีสานล่างคือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และบางส่วนของนครราชสีมา มหาสารคาม
ชาวส่วยหลายกลุ่มพากันอพยพหนีสงครามข้ามมาตั้งหลักแหล่งทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง เมื่อพุทธศักราช 2260 แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือนและมีหัวหน้าปกครองตามที่ต่างๆ ซึ่งเป็นจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบันคือ
- กลุ่มที่ 1 มาอยูที่บ้านเมืองที (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์) มีหัวหน้าชื่อ เชียงปุม
- กลุ่มที่ 2 มาอยูที่บ้านกุดหวายหรือเมืองเตา (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอรัตนบุรี) มีหัวหน้าชื่อ เชียงลี
- กลุ่มที่ 3 มาอยูที่บ้านเมืองลีง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอจอมพระ) มีหัวหน้าชื่อ เชียงสง
- กลุ่มที่ 4 มาอยูที่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน (ปัจจุบันคือบ้านดอนใหญ่ อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ) มีหัวหน้าชื่อ ตากะจะและเชียงขัน
- กลุ่มที่ 5 มาอยูที่บ้านอัจจะปะนึง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสังขะ) มีหัวหน้าชื่อ เชียงฆะ
- กลุ่มที่ 6 มาอยูที่บ้านกุดปะไท (ปัจจุบันคือบ้านจารพัต อำเภอศีขรภูมิ) มีหัวหน้าชื่อ เชียงไชย
ชาวส่วยเหล่านี้มีความชำนาญในการคล้องช้าง ทำการเกษตร หาของป่า ป่าดงแถบนี้มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ เช่น โขลงช้างพัง ช้างพลาย ฝูงเก้ง กวาง ละมั่ง และโคแดง เหมาะกับการทำมาหากินของชาวส่วยเป็นอย่างยิ่ง แต่ละชุมชนมีการไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ
สมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (เจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) แห่งกรุงศรีอยุธยา ช้างเผือกเขตกรุงหนีออกมาจากกรุงศรีอยุธยาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่เขตพิมาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ขุนนางสองพี่น้อง (เข้าใจว่า คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) กับไพร่พล 30 คน ออกติดตามช้างเผือกมาทางแขวงเมืองพิมาย ได้มาสืบถามร่องรอยช้างจากชาวเมืองพิมายซึ่งเป็นผู้ชำนาญภูมิประเทศในแถบนั้น ก็ได้รับคำแนะนำให้ไปสืบถามพวกส่วย มอญ แซก โพนช้างอยู่ริมเขาดงใหญ่เชิงเขาพนมดงรัก เมื่อได้รับคำแนะนำจากชาวเมืองพิมายว่าช้างเผือกหนีไปทางไหนแล้ว ขุนนางสองพี่น้องพร้อมด้วยไพร่พลออกติดตามต่อมาตามลำน้ำมูลมาพบเชียงสีหรือตากะอาม หัวหน้าบ้านกุดหวาย เชียงสีได้พาขุนนางสองพี่น้องไปพบหัวหน้าหมู่บ้านอื่นๆ เพื่อจะได้ช่วยกันตามหาช้างเผือกต่อไป โดยไปหาเชียงปุมที่บ้านเมืองที เชียงปุมได้ร่วมสมทบกับขุนนางสองพี่น้องพากันไปหาเชียงไชยที่บ้านกุดปะไท (บ้านจารพัต) ไปหาเชียงขันที่บ้านโคกลำดวน ไปหาเชียงฆะที่บ้านอัจจะปะนึง จึงทราบข่าวจากเชียงฆะว่า ได้พบช้างเผือกเชือกหนึ่งมีเครื่องประดับที่งาพาบริวารซึ่งเป็นช้างป่ามาเล่นน้ำที่หนองโชก หรือหนองบัวในเวลาบ่ายทุกวัน
เชียงฆะก็พาขุนนางสองพี่น้องและพวกไปยังหนองโชก พากันขึ้นต้นไม้ที่ริมหนองโชกเพื่อดูช้างโขลงนั้น ครั้นเวลาบ่ายช้างโขลงนั้นก็ออกจากชายป่ามาเล่นน้ำตามเคย ปรากฏว่าช้างเผือกที่หายมานั้นอยู่กลางฝูงพากันลงเล่นน้ำที่หนองโชก ขุนนางทั้งสองจึงเอาก้อนอิฐแปดก้อนที่นำมาจากบ้านเมืองทีขึ้นเสกเวทมนตร์ตามพิธีกรรมคชศาสตร์ อธิษฐานแล้วขว้างไปยังโขลงช้างทั้งแปดทิศ ฝ่ายช้างป่าก็แตกตื่นหนีเข้าป่าหมด คงเหลืออยู่แต่ช้างเผือกเชือกเดียวขุนนางสองพี่น้องก็ลงจากต้นไม้พากันขึ้นขี่หลังช้างโดยง่าย เมื่อจับช้างได้แล้ว ขุนนางสองพี่น้องและบริวารพากันเดินทางกลับ หัวหน้าหมู่บ้านทั้งหลายที่มาช่วยเหลือในการติดตามช้าง ก็ได้อำนวยความสะดวกในการควบคุมช้างเผือกมาส่งที่กรุงศรีอยุธยาด้วย เมื่อมาถึงพระนครแล้ว ขุนนางสองพี่น้องจึงได้นำหัวหน้าหมู่บ้านทั้งหลายเข้าเฝ้าสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ และกราบบังคมทูลเหตุการณ์ทั้งหมดให้ทรงทราบ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์จึงโปรดเกล้าแต่งตั้งบรรดาหัวหน้าชาวส่วยให้มีฐานันดรศักดิ์ คือ
- ตากะจะ เป็น หลวงแก้วสุวรรณ
- เชียงขัน เป็น หลวงปราบ
- เชียงฆะ เป็น หลวงเพชร
- เชียงปุม เป็น หลวงสุรินทรภักดี
- เชียงลี เป็น หลวงศรีนครเตา
- เชียงไชย เป็น ขุนไชยสุริยงค์
กลับไปปกครองคนในหมู่บ้านของตน โดยอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยาขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย ( ยุพดี จรัณยานนท์ 2522 : 34 – 35 )
พุทธศักราช 2306 หลวงสุรินทร์ภักดี (เชียงปุม) ได้ขอพระบรมราชานุญาตย้ายหมู่บ้านจากเมืองทีซึ่งคับแคบและไม่สะดวกในการทำมาหากินไปตั้งที่บ้านคูประทายหรือบ้านคูประทายสมันต์ คือที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่กว้างใหญ่มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบถึง 2 ชั้น เป็นชัยภูมิเหมาะสมที่จะป้องกันและต่อต้านศัตรูที่มารุกรานได้เป็นอย่างดี เมื่อได้รับอนุญาตแล้วหลวงสุรินทร์ภักดีจึงได้อพยพราษฎรบางส่วนไปอยู่ที่บ้านคูประทาย ส่วนญาติพี่น้อง ชื่อเชียงบิด เชียงเกตุ เชียงพัน นางสะตา นางแล และราษฎรส่วนหนึ่งคงอยู่ ณ หมู่บ้านเมืองทีตามเดิม ระหว่างที่อยู่บ้านเมืองที หลวงสุรินทร์ภักดี (เชียงปุม) กับญาติร่วมกันสร้างเจดีย์ 3 ยอด สูง 18 ศอก และสร้างโบสถ์พร้อมพระปฏิมา หน้าตักกว้าง 4 ศอก ซึ่งปรากฏอยู่ที่วัดเมืองทีมาจนถึงปัจจุบันนี้
เมื่อย้ายถิ่นฐานจากบ้านเมืองทีไปอยู่ที่บ้านคูประทายแล้ว หัวหน้าหมู่บ้านทั้ง 5 จึงได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา นำสิ่งของไปทูลเกล้าถวาย คือ ช้าง ม้า แก่นสน ยางสน ปีกนก นอระมาด (นอแรด) งาช้าง ขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง เป็นการส่งส่วยตามราชประเพณี เพราะว่าขณะนั้นบรรพบุรุษของชาวสุรินทร์จะได้อพยพมาตั้งฐิ่นฐานอยู่ในดินแดนอันเป็นป่าดงทึบส่วนนี้ โดยตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่อย่างมั่นคงก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของกรุงศรีอยุธยา ยังคงถือว่าเป็นกลุ่มชนที่อยู่ในป่าดงในราชอาณาเขตเท่านั้น ซึ่งกรุงศรีอยุธยาเริ่มรู้จักก็โดยหัวหน้าหมู่บ้านได้ช่วยเหลือจับช้างเผือกคืนกรุงศรีอยุธยา และเมื่อหัวหน้าหมู่บ้านได้นำของไปทูลเกล้าถวายแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า แต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้หัวหน้าหมู่บ้านสูงขึ้น ดังนี้
- หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) เป็น พระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ยกบ้านคูประทาย เป็น เมืองประทายสมันต์ ให้พระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง เป็นเจ้าเมืองปกครอง
- หลวงเพชร (เชียงฆะ) เป็น พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ ยกบ้านอัจจะปะนึง หรือบ้านดงยาง เป็น เมืองสังฆะ ให้พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ เป็นเจ้าเมืองปกครอง
- หลวงศรีนครเตา (เชียงสี หรือตากะอาม) เป็น พระศรีนครเตา ยกบ้านกุดหวาย เป็น เมืองรัตนบุรี ให้พระศรีนครเตา เป็นเจ้าเมืองปกครอง
- หลวงแก้วสุวรรณ (ตากะจะ) เป็น พระไกรภักดีศรีนครลำดวน ยกบ้านปราสาท-สี่เหลี่ยมดงลำดวน เป็น เมืองขุขันธ์ ให้พระภักดีศรีนครลำดวน เป็นเจ้าเมืองปกครอง การปกครองบังคับบัญชาแบ่งเป็นหมวดหมู่ เป็นกอง มีนายกอง นายหมวด นายหมู่ บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย หัวหน้าหมู่บ้านทั้งหมดก็เดินทางกลับและปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบสุขตลอดมา
[แก้] สมัยกรุงธนบุรี
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปีพุทธศักราช 2310 แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้อิสรภาพและตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เมืองสุรินทร์ก็ขึ้นต่อกรุงธนบุรี
เมื่อพุทธศักราช 2318 พญาโพธิสาร จากนครจำปาศักดิ์ยกทัพมากวาดต้อนครัวบ้านครัวเมือง เมืองสุวรรณภูมิ เมืองตักศิลา (อำเภอราษีไศล) และเมืองศรีนครเขต (ศรีสะเกษ) ทิ้งให้เป็นเมืองร้าง
ครั้นเมื่อปีพุทธศักราช 2321 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงโปรดเกล้าให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพไปสมทบกำลังเกณฑ์เมืองขุขันธ์ เมืองสังขะบุรี และกองทัพช้างคูประทายสมันต์ ขึ้นไปตีเมืองจำปาศักดิ์ เมืองนครพนม บ้านหนองคาย เวียงจันทร์เป็นกำลังสำคัญในการขยายอิทธิพลสู่เขมร ในปีพุทธศักราช 2324 ทางฝ่ายเขมรเกิดการจลาจล โดยเจ้าทะละหะ (มู) กับพระยาวิมลราช (ฮู) ฝักใฝ่ในทางญวน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้า ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปปราบปราม โดยเกณฑ์กำลังทางขุขันธ์ ประทายสมันต์ (เมืองสุรินทร์) สังขะ ไปช่วยปราบปรามเมืองประทายเพชร ประทายมาศ เมืองรูงตำแรย์ กำปงสวายและเสียมราฐ การปราบปรามยังไม่ราบคาบ เกิดความไม่สงบขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทราบข่าวจึงเลิกทัพกลับคืนมายังกรุงธนบุรี
ในระหว่างสงครามครั้งนี้ได้มีพวกเขมรหลบหนีสงครามจากเมืองเสียมราฐ กำปงสวาย ประทายเพชร และเมืองอื่นๆ เข้ามาอยู่ในเมืองประทายสมันต์ และสังขะเป็นจำนวนมาก อาทิ ออกญานินทร์เสน่หา จางวาง ออกไกรแป้น ออกญาตูม นางดาม บุตรีเจ้าเมืองประทายเพชรรวมทั้งพี่น้องบ่าวไพร่เมืองเสียมราฐ ก็ได้พากันมาอยู่เมืองประทายสมันต์ด้วย ต่อมานางดามได้แต่งงานกับสุ่นหลานชายของพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) ภายหลังชาวเขมรทราบว่า นางดามซึ่งเป็นนายของตนมาเป็นสะใภ้เจ้าเมือง จึงพากันอพยพมาอยู่ที่เมืองคูประทายมากขึ้น ดังนั้น ชาวเมืองคูประทาย ซึ่งเป็นส่วยจึงปะปนกับเขมรและเพราะเหตุที่ชาวเขมรมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน วัฒนธรรมตลอดทั้งความเป็นอยู่ จึงผันแปรไปทางเขมรมากขึ้นประกอบกับเมืองสุรินทร์รับผิดชอบเกลี้ยกล่อมผู้คนในเขตแดนเขมร ตลอดจนให้เจ้าเมืองกรมการเมืองต่างๆ เหล่านี้จัดส่งคนไปลาดตระเวน เกลี้ยกล่อมผู้คนในเขตรับผิดชอบเดือนละสองครั้ง ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตเมืองสุรินทร์ ทำให้วัฒนธรรมเขมรเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อเสร็จศึกสงครามเมืองเวียงจันทร์และเมืองเขมรแล้ว เจ้าเมืองประทายสมันต์ เมืองขุขันธ์ และเมืองสังฆะได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ทั้ง 3 เมือง
[แก้] สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
[แก้] รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปีพุทธศักราช 2325 และตั้ง